จอมพล ป. กับสงครามโลกครั้งที่สอง ของ ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)

เดือนธันวาคม 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงครามได้รับเสียงสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ มีผู้มองว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีความเหมาะสมเช่นกัน แต่บทบาทของกองทัพบกในการเมืองหลังปี 2475 ทำให้ตัวแทนของกองทัพบกมีน้ำหนักมากกว่า[1]:182 การเมืองไทยเปลี่ยนจากประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเป็นลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหาร ลัทธิผู้นำที่หลวงพิบูลสงครามสร้างขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดความแตกแยกในคณะราษฎรฝ่ายหลวงพิบูลสงครามกับฝ่ายปรีดี พนมยงค์[1]:177–8

วันที่ 29 มกราคม 2481 (นับแบบเก่า) ศัตรูของรัฐบาล 51 คนถูกจับกุม และหลังจากการพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษ ก็มีคำพิพากษาในัวนที่ 20 พฤศจิกายน 2482 ประหารชีวิตจำเลย 18 คน[1]:190 ดูเหมือนว่าคดีดังกล่าวจะเป็นการสิ้นสุดของความขัดแย้งทางการเมืองภายในนับแต่การปฏิวัติสยาม[1]:192

โปสเตอร์ของรัฐบาลชักชวนให้ประชาชนแต่งกายให้ทันสมัย

วันที่ 24 มิถุนายน 2482 พลตรี หลวงพิบูลสงครามกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติแทนวันเฉลิมพระชนมพรรษา และเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย การทำให้ทันสมัยยังเป็นอีกแก่นหนึ่งที่สำคัญในชาตินิยมไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ถึง 2485 เขาออกประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ นอกเหนือจากการกำหนดให้คนไทยทุกคนเคารพธงชาติ รู้จักเพลงชาติ และพูดภาษาไทยแล้ว รัฐนิยมดังกล่าวยังกระตุ้นให้คนไทยทำงานหนัก ติดตามข่าวสารปัจจุบัน และแต่งกายแบบตะวันตก มีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์และปรับปรุงตัวอักษรไทยในเดือนพฤษภาคม 2485 ให้ใช้เลขอารบิกแทนเลขไทย การออกรัฐนิยมตรงกับช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามมีอำนาจทางการเมืองสูงสุด[1]:204 รัฐบาลยังพยายามเสริมฐานะของรัฐบาลและผู้นำตามลัทธิบูชาบุคคล โดยลดบทบาทและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ยกเลิกโบราณราชประเพณี การย้ายพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 และการฟ้องคดีพระมหากษัตริย์[1]:193

ในปี 2483 นโยบายเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศสมีการเดินขบวนสนับสนุรัฐบาลทั่วประเทศ หลวงพิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและได้รับยศจอมพล หลังจากกรณีพิพาทอินโดจีนช่วงสั้น ๆ ไทยได้เข้าสู่เขตอิทธิพลของญี่ปุ่นในปี 2484